10 ทักษะจำเป็นสำหรับนักการจัดการโลจิสติกส์

ในยุคโลกาภิวัตน์ที่องค์กรธุรกิจเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรง องค์กรได้ดึงเอาการจัดการโลจิสติกส์มาเป็นกลยุทธ์สำคัญ เนื่องด้วยการจัดการโลจิสติกส์ที่ดีสามารถเพิ่มคุณค่าในการให้บริการลูกค้า นอกจากนี้กิจกรรมโลจิสติกส์ยังมีต้นทุนสูง ธุรกิจในประเทศไทยโดยรวมมีการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมโลจิสติกส์คิดเป็น 14.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือประมาณ 1,835.2 พันล้านบาท

10SkillsLogistics

จากรายงานโลจิสติกส์ของประเทศไทยประจำปี 2557 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) การจัดการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จทางธุรกิจ ผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียนจะทำให้การแข่งขันในระดับเวทีสากลทวีความรุนแรงมากขึ้น องค์กรจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับสภาพการแข่งขัน แต่จากผลการสำรวจของธนาคารโลก (World Bank) ประเทศไทยมีสมรรถนะการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ (Logistics Performance Index (LPI) ต่ำกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ ในปี 2557 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 5 และมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 160 ประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคลากรด้านโลจิสติกส์

นักการจัดการโลจิสติกส์ที่มีความสามารถจะช่วยพัฒนาการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ และประสานในโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ ทำให้ต้นทุนรวมของทั้งโซ่อุปทาน ทุกหน่วยงานในองค์กรต่ำที่สุด และตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า เนื่องจากกิจกรรมโลจิสติกส์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงานขององค์กร นักการจัดการโลจิสติกส์จึงจำเป็นต้องมีทักษะทั้งด้านกว้างและความลึกเฉพาะทาง

งานวิจัย [1] ได้จัดอันดับทักษะและความรู้ที่สำคัญของนักการจัดการโลจิสติกส์ไว้ ตามลำดับดังนี้
1.คุณสมบัติเชิงบุคลิกภาพที่เน้นการมีคุณธรรมนำใจ (Personal integrity)
2.การจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (Managing client relationships)
3.ความสามารถในการแก้ปัญหา (Problem-solving ability)
4.การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย (Cost control)
5.ความสามารถในการวางแผน (Ability to plan)
6.ทักษะการสื่อสารด้านการเขียน (Effective written communication)
7.แรงจูงใจภายในตนเอง ( Self-motivation)
8.การจัดการด้านการเงิน (Financial management)
9.ความมีคุณธรรมและจริยธรรม (Ethical behavior)
10.การสื่อสารด้านวัจนภาษาที่มีประสิทธิผล (Effective verbal communication) อาทิ การเจรจาและการบริหารจัดการความขัดแย้ง

จะเห็นได้ว่าบุคลากรในสายอาชีพทางด้านการจัดการโลจิสติกส์ ต้องมีองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์แก้ปัญหาและการวางแผน ด้านการบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า การบริหารการเงิน มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความเข้าใจในธุรกิจในลักษณะองค์รวมสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้แบบบูรณาการ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น และยิ่งไปกว่านั้นมีความสามารถในการสื่อสาร

หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ของคณะสถิติประยุกต์ นิด้า สามารถช่วยพัฒนาทั้ง soft skills และองค์ความรู้การวิเคราะห์เชิงลึกดังกล่าวได้ การเรียนการสอนเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศประยุกต์เพื่อการจัดการและการวิเคราะห์งานทางด้านโลจิสติกส์ การใช้กรณีศึกษา และมีการสัมมนาดูงานในต่างประเทศสำหรับนักศึกษาภาคพิเศษทุกรุ่นเพื่อให้นักศึกษาไปเรียนรู้วิธีการจัดการโลจิสติกส์ในเคสที่ประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนรู้สามารถเชื่อมโยงความรู้ที่มีในตำรากับการทำงานจริงในโลกยุคใหม่ที่ต้องโฟกัสเรื่องการบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร (Information) และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ในส่วนที่เหลือของบทความ จะเล่าถึงเนื้อหาในบางวิชาและชี้ให้เห็นว่าจะช่วยพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ที่กล่าวมาข้างต้นอย่างไร

ในส่วนการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย จากรายงานของ สศช. พบว่า โครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยประกอบด้วย 51.9% ต้นทุนการขนส่งสินค้า, 39.0% ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง และที่เหลือเป็นต้นทุนการบริหารจัดการโลจิสติกส์ (logistics administration cost) หลักสูตรจึงออกแบบหลักสูตรให้มีสองวิชาหลัก คือ 1) การจัดการสินค้าคงคลัง และ 2) การจัดการการขนส่งและเครือข่ายการกระจายสินค้า เพื่อเน้นวิเคราะห์สองต้นทุนหลักในการจัดการสินค้าคงคลัง เราสามารถวางแผนได้ว่าควรเป็นปริมาณเท่าใดและสั่งเมื่อไหร่ เพื่อให้ต้นทุนรวมต่ำสุด และยังสามารถตอบสนองระดับการให้บริการลูกค้าที่องค์กรกำหนดไว้ หากมีการเปลี่ยนนโยบายสินค้าคงคลัง เราสามารถประเมินได้ถึงผลกระทบทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและระดับการให้บริการ จากหลายโปรเจ็กต์ของนักศึกษาในเทอมสุดท้ายพบว่า เมื่อนำนโยบายที่วิเคราะห์ได้ไปใช้กับข้อมูลจริงขององค์กร สามารถลดต้นทุนต่อปีได้ประมาณ 10-30%

ส่วนการจัดการขนส่งและเครือข่ายการกระจายสินค้าก็เป็นทักษะสำคัญของนักจัดการโลจิสติกส์ งานด้านการขนส่งและกระจายสินค้าเกี่ยวข้องกับการจัดการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบหรือสินค้าจากจุดที่มีการผลิตไปยังจุดที่มีการใช้งาน หรือ ปลายทางคือผู้บริโภค ให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันเวลาและมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่ำที่สุด ทักษะการจัดการที่สำคัญคือการบริหารจัดการในเรื่องต้นทุน ค่าใช้จ่าย การได้วิเคราะห์หาโครงสร้างต้นทุน รวมไปถึงการจัดการขนส่งที่สนองต่อนโยบายการผลิตแนวใหม่ เช่น การผลิตแบบทันเวลาพอดี Just In Time (JIT) การพัฒนาเครือข่ายการกระจายสินค้าซึ่งเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม เช่น การเลือกทำเลที่ตั้งโรงงาน คลังสินค้า ในภูมิภาคที่อาจใช้เป็นจุดกระจายสินค้าไปยังจังหวัดต่างๆ การเลือกรูปแบบการขนส่งที่มีความเหมาะสมต่อทั้งสินค้า ปริมาณสินค้าและความรวดเร็ว ตรงต่อเวลา สามารถตอบสนองความต้องการและเพิ่มระดับความพึงพอใจของลูกค้า การเลือกเส้นทางในการขนส่งทั้งแบบระหว่างเมืองและแบบภายในเมือง การจัดการเรื่องตารางเวลาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับทรัพยากร (เช่น รถบรรทุก คนขับรถบรรทุก พนักงาน) ที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

สำหรับหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ นิด้า ในด้านการพัฒนาทักษะการสื่อสารนั้นมีการเปิดวิชาด้านการเจรจาต่อรองและการบริหารจัดการความขัดแย้งเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทัศนคติ องค์ความรู้และทักษะในด้านการเจรจาต่อรองเชิงบูรณการอันจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับบุคลากรในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาภาวะผู้นำผ่านการเพิ่มขีดความสามารถในการตัดสินใจและการพัฒนาความคิดเชิงระบบเพื่อใช้ในการทำงานในสายงานโลจิสติกส์

รายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บไซต์คณะ as.nida.ac.th/th/ หรือเว็บไซต์หลักสูตร www.logisticsatnida.net/

หมายเหตุ :
[1] V. V. Thai, S. Cahoon and H. T. Tran. (2011). “Skill requirements for logistics professionals: findings and implications,” Asia Pacific Journal of Marketing and Logistics, 23(4): 553-574.

อ.ดร.สราวุธ จันทร์สุวรรณ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะสถิติประยุกต์ NIDA
รศ.ดร.กาญจ์นภา อมรัชกุล ผศ.ดร.จักรินทร์ ศุขหมอก รศ.ดร.จุฑาพรรธ์ ผดุงชีวิต อ.ดร.ศิวิกา ดุษฎีโหนด
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะสถิติประยุกต์ NIDA

เผยแพร่ครั้งแรกในผู้จัดการ Online 20 กันยายน 2558