การประเมินความยืดหยุ่นด้านความจุของโครงข่ายการขนส่งสินค้า ระหว่างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง กับท่าเรือแหลมฉบัง

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือการพัฒนาตัวแบบคณิตศาสตร์เพื่อใช้ประเมินความยืดหยุ่นด้านความจุของโครงข่ายการขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นการประเมินหาขีดความจุสูงสุดที่ระบบโครงข่ายขนส่งสินค้าสามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าได้ ผลการศึกษาดังกล่าวจะทำให้ทราบถึงความจุคงเหลือ ของโครงข่าย การประเมินหาความจุของโครงข่ายใช้ตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์จากปัญหา 2 ระดับ (Bi-level Programming) ประกอบด้วย ปัญหาระดับบน (Upper Level) ซึ่งเป็นการคำนวณหาค่าที่มากที่สุดของตัวคูณความจุสำรองภายในโครงข่ายทางหลวง หรือ μ และปัญหาระดับล่าง (Lower Level) ซึ่งจะแสดงพฤติกรรมการเลือกเส้นทางสำหรับการขนส่งสินค้า โดยพิจารณาจากปัญหาการเลือกเส้นทางที่จุดสมดุลของผู้เดินทาง (User Equilibrium) โดยการศึกษานี้ได้เลือกศึกษาโครงข่ายการขนส่งสินค้าระหว่างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ลาดกระบังกับท่าเรือแหลมฉบัง ที่ประกอบด้วยโครงข่ายทางหลวงและโครงข่ายรถไฟเป็นกรณีศึกษา และทำการเปรียบเทียบสถานการณ์การขนส่งสินค้า 3 สถานการณ์ คือ 1) สถานการณ์ที่มีการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกเพียงรูปแบบเดียว 2) สถานการณ์ที่มีการขนส่งสินค้าร่วมกันผ่านรถบรรทุกและรถไฟในช่วงเวลาปัจจุบัน และ 3) สถานการณ์ที่มีการขนส่งสินค้าร่วมกันผ่านรถบรรทุกและรถไฟในอนาคต (หลังเสร็จสิ้นโครงการพัฒนาศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ) ซึ่งผลการศึกษา พบว่า สถานการณ์ที่ 1 และ 2 มีความจุของโครงข่ายทางหลวงหลักที่ใช้ขนส่งสินค้าไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการในปัจจุบัน โดยมีค่า μ เท่ากับ 0.39 และ 0.62 ตามลำดับ ในส่วนของสถานการณ์ที่ 3 พบว่า เมื่อโครงข่ายทางรางได้รับการพัฒนาแล้วเสร็จ จะทำให้สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 และส่งผลให้ค่า μ เพิ่มขึ้นเป็น 0.81 ทั้งนี้ ยังพบปัญหาคอขวดอยู่บนถนนทางหลวงหมายเลข 7 ช่วงทางต่างระดับหนองขาม – ท่าเรือแหลมฉบัง ทั้ง 2 ทิศทาง ผลการศึกษาของกรณีศึกษานี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาของระบบขนส่งสินค้าที่ต้องการการปรับปรุงและเพิ่มความจุให้กับระบบโครงข่ายเพื่อลดปัญหาคอขวดของระบบ

รพีพัฒน์ ชัยประสิทธิกุล สราวุธ จันทร์สุวรรณ

การประชุมวิชาการด้านการวิจัยดำเนินงานแห่งชาติ ประจำปี 2559 (ORNET2016)
Slide:ORNET2016-capflex-present
Full paper: ORNET2016-capflex