กระผมได้มีโอกาสขับรถโดยใช้สะพานจตุรทิศอยู่บ่อยครั้งเนื่องจากเป็นเส้นทางลัดสามารถเชื่อมโยงกับถนนสายสำคัญได้หลายสายเช่น ถนนศรีอยุธยา ถนนอโศก-ดินแดง ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนพระราม9 และทางด่วนขั้นที่สอง ผู้สัญจรที่อาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯก็นิยมใช้เส้นทางนี้เพราะนอกจากจะช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางเข้าเมืองได้แล้ว ยังไม่ต้องเสียค่าผ่านทางอีก กระผมเองยังเคยคิดว่าใครกันหนอเป็นผู้ริเริ่มโครงการลักษณะแบบนี้ ช่างชาญฉลาดเสียเหลือเกิน ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะว่าโครงการลักษณะนี้เป็นโครงการที่มีการลงทุนไม่สูงมากแต่กลับช่วยเชื่อมโยงการเดินทาง ลดปัญหาจราจรติดขัดได้เป็นอย่างดี อยากจะให้มีโครงการลักษณะแบบนี้หลายๆ แห่งทั่วกรุงเทพฯ เก็บความสงสัยได้ไม่นานก็กลับกระผมได้กลับมาค้นคว้าดูว่าโครงการนี้มีที่มาอย่างไรซึ่งก็พบว่าสะพานจตุรทิศแท้จริงแล้วนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายจตุรทิศ โครงการนี้เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพุทธศักราช ๒๕๓๘
เพราะทรงตระหนักว่าปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯนับวันก็ยิ่งเลวร้ายลงและการแก้ปัญหาจราจรมักจะไม่ได้พิจารณามองเป็นทั้งโครงข่าย แต่กลับ แก้ปัญหาแบบเป็นจุดๆ เพื่อคลี่คลายเฉพาะหน้า ดังนั้นการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯนั้นจำเป็นต้องวางแผนให้เป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ที่สามารถเชื่อมโยงถนน สะพาน และ โครงการขนาดย่อยต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้การไหลเวียนของการจราจรนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ การเดินทางข้ามเมืองก็จะเป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเข้าไปแออัดกันในเมือง และนี่คือที่มาของโครงข่ายจตุรทิศที่เชื่อมต่อเส้นทางจราจรในแนวทิศทางตะวันออก-ตะวันตกอันเกิดจากพระราชดำริจนสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาจราจรของกรุงเทพฯได้อย่างเป็นรูปธรรม |
||||
ด้วยพระปรีชาญาณรู้การณ์ไกลว่าปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ นั้นนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงมีพระราชดำริพัฒนาโครงการด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดในกรุงเทพฯและปริมณฑลมากมายตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนีก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณรู้การณ์ไกลว่าการจราจรระหว่างกรุงเทพฯฝั่งตะวันตกและตะวันออกนั้นจะมีปัญหาติดขัดเป็นอย่างมาก โดยเมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่โรงพยาบาลศิริราชก็ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพการจราจรที่ติดขัดต่อเนื่องตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าต่อเนื่องไปจนถึงถนนพระบรมราชชนนี จึงมีพระราชดำรัส ในเดือน มิถุนายน ๒๕๓๘ ความตอนหนึ่งว่า “…หากสร้างสะพานยกระดับขาออกให้ยาวเลยไปจากขนส่งสายใต้จะมีประโยชน์มาก…” กรุงเทพมหานครและกรมทางหลวงซึ่งเป็นสองหน่วยงานหลักได้น้อมนำพระราชดำริไปสู่การปฏิบัติโดยร่วมกันก่อสร้างทางโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี มีจุดเริ่มต้นจากแยกอรุณอัมรินทร์ไปจนถึงพุทธมณฑลสาย ๒ กรมทางหลวงยังได้ก่อสร้างขยายช่องจราจรระดับพื้นราบจากเดิม ๘ ช่องจราจร เพิ่มเป็น ๑๒ ช่องจราจรจนทำให้การคมนาคมขนส่งในพื้นที่ดังกล่าวเกิดความคล่องตัวมากขึ้น และโครงการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจตุรทิศฝั่งตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพมหานครดังกล่าวมาข้างต้น โครงการนี้ผ่านโครงการสะพานพระราม ๘ เข้าสู่ถนนศรีอยุธยา สู่ถนนราชปรารภ ผ่านเข้าสู่ถนนเชื่อมพระราม ๙ เพชรบุรีสายที่ ๑ บรรจบถนนพระราม ๙ สู่ถนนรามคำแหง ข้ามไปตามแนวพระราม ๙ ตัดใหม่ จนบรรจบถนนศรีนครินทร์ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จก็ช่วยให้การเดินทางเชื่อมกรุงเทพฯและปริมณฑลแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น เกิดผลเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง ลดจุดตัดและจุดคอขวดของระบบที่มักเป็นจุดที่มีความติดขัดสูงได้มาก อีกทั้งยังเอื้อประโยชน์ต่อผู้สัญจรภายในเมืองและระหว่างเมืองได้เป็นอย่างดี ผู้สัญจรที่จะเดินทางไป ภาคใต้ ภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างก็ได้รับประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวเป็นอย่างมาก |
||||
การดำเนินงานโครงการพัฒนาด้านการคมนาคมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและเพิ่มความคล่องตัวของการเดินทางในกรุงเทพฯและปริมณฑลเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หากย้อนไปในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก (Silver Jubilee) โดยรัฐบาลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นเป็นถนนวงแหวนเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยมีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “…อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวนเพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว…” ในช่วงที่มีการวางแผนก่อสร้างนั้น พระองค์ท่านได้มีรับสั่งถาม พันโท ประถม บุรณศิริ (ผู้อำนวยการกองวางแผน กรมทางหลวง ในสมัยนั้น – ต่อมาพลโทประถม บูรณศิริ รองอธิบดีกรมทางหลวงและรองเลขาธิการพระราชวังและเหรัญญิกมูลนิธิสายใจไทย) ว่าจะจัดระบบทางหลวงอย่างไร จึงจะสามารถรับปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ พันโท ประถมได้กราบบังคมทูล ว่าการแก้ไขปัญหาสมควรที่จะใช้ระบบ Ring & Radial คือต้องมีวงแหวนรอบกรุงเทพฯ และมีถนนออกจากศูนย์กลางไปรอบตัวตัดกับวงแหวนเหล่านั้น โดยกำหนดให้เป็นทางหลวงที่ควบคุมการเข้า-ออก (Access Controlled) และตรงจุดตัดที่สำคัญจะทำเป็นทางแยกต่างระดับทุกแห่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริเห็นชอบด้วยและยังทรงพระราชทานข้อเสนอแนะเพิ่มเติมหลายประการจนถนนวงแหวนรอบในนี้มีความสมบูรณ์ คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้เร่งดำเนินการเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็น พระบรมราชานุสรณ์ในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก โดยกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนนวงแหวนสายนี้ว่า “ถนนรัชดาภิเษก” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2514 พระองค์ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ และติดตามความคืบหน้าด้วยพระองค์เองเสมอมา เมื่อรัฐบาลชุดของ ศาตราจารย์ (พิเศษ) ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเข้าทำงาน พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า “ถนนสายนี้เริ่มสร้างมาหลายปีแล้วยังไม่เสร็จเรียบร้อย ยังไม่ครบวง ให้เร่งสร้างให้เสร็จโดยเร็วด้วย” ขณะนั้น ถนนสายนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างช่วงสี่แยกอโศกกับถนนพหลโยธินรัฐบาลจึงได้เร่งรัดให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ และรัฐบาลชุดต่อๆ มาก็ได้รีบเร่งดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองพระราชดำริ จนสำเร็จเป็นวงแหวนถนนรัชดาภิเษกโดยสมบูรณ์ ในปี ๒๕๓๖ และได้ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ ชั้นในให้คลี่คลายไปได้อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สัญจรเข้า-ออกระหว่างใจกลางเมืองกับชุมชนส่วนนอก ตลอดจนถึงผู้ที่มาจาก ต่างจังหวัดทั้งทางทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันตก และทิศใต้ ให้สามารถเดินทางผ่านกรุงเทพฯ ออกไปได้โดยไม่ต้องเข้าสู่ศูนย์กลางของเมืองที่มีการ จราจรคับคั่งเป็นประจำ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมวินิจฉัยว่าถนนรัชดาภิเษกจะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นจะต้องมีเส้นทางเชื่อมถนนจากเมืองทางตะวันออกกับถนนทางใต้ให้ติดต่อกันได้โดยผ่านถนนวงแหวนด้านใต้ ซึ่งในระหว่างการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก กรมทางหลวงได้เริ่มก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกเพื่อแก้ปัญหาจราจรไปในเวลาเดียวกัน เมื่อแล้วเสร็จกระทรวงคมนาคมได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญชื่อพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเป็นชื่อทางหลวงวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านใต้ว่า ถนนกาญจนาภิเษกและได้เปลี่ยนจากทางหลวงหมายเลข ๓๗ เป็นทางหลวงหมายเลข ๙ ซึ่งนับเป็นถนนวงแหวนรอบนอกและเป็นวงแหวนรอบที่สองของกรุงเทพฯ ต่อมาได้มีการพัฒนาขยายตัวด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่ปริมณฑลโดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก การเดินทางของรถบรรทุกเข้าออกพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องเดินทางผ่านตัวเมืองอันเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัด จึงได้เกิดโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมซึ่งเป็นถนนวงแหวนรอบเล็กตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานแนวทางไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๘ เพื่อเป็นโครงข่ายถนนรองรับการขนส่งสินค้าและลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพฯต่อเนื่องไปถึงพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศไปพร้อมกันการก่อสร้างอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบทมีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๕ กิโลเมตรและมีส่วนที่เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็นสองช่วง เป็นสะพานขึงยกสูง โดยผู้ออกแบบกำหนดให้สะพานทั้งสองช่วงมีลักษณะคล้ายพระธำมรงค์ (หัวแหวน) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานภูมิพล” และเมื่อเปิดดำเนินการก็มีส่วนช่วยให้ลดปัญหาการจราจรติดขัดและรถบรรทุกสินค้าก็สามารถใช้เดินทางเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือกับพื้นที่โดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริดังที่กล่าวไปข้างต้นนั้นยังเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของโครงการในพระราชดำริด้านคมนาคมขนส่งจำนวนมากที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้นำไปปฏิบัติจนเกิดผลประโยชน์อันอเนกอนันต์ต่อระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย คนไทยควรน้อมนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติให้ต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาการคมนาคมในประเทศไทยให้สำเร็จได้อย่างแท้จริง |
||||
เอกสารอ้างอิง : |
อาจารย์ ดร.สราวุธ จันทร์สุวรรณ
ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เผยแพร่ใน managerOnline 23 ตุลาคม 2556
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000106173