Traditional Pricing ของตั๋วโดยสารรถทัวร์ versus Dynamic Pricing ของตั๋วโดยสารเครื่องบิน Low Cost หนึ่งกลยุทธ์เชิงราคาของการจัดการรายได้ / Pricing & Revenue Optimization

รองศาสตราจารย์ ดร. กาญจ์นภา อมรัชกุล
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
http://as.nida.ac.th/th/

เมื่อช่วงที่ผ่านมา มีกระแสการเปรียบเทียบราคาตั๋วโดยสาร promotion ของสายการบิน Low Cost (LC) กับราคาตั๋วโดยสารของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ว่ามีราคาใกล้เคียงกัน และวิจารณ์การตั้งราคาพร้อมทั้งลงความเห็นว่าอาจเป็นสาเหตุให้บริษัทเดินรถเดือดร้อน ก่อนที่เราจะไปตัดสินว่าสายการบิน LC ตั้งราคาต่ำเกินจริงหรือไม่ หรือมีผลดีผลเสียกับผู้บริโภคหรือกระทบบริษัทอย่างไร รัฐควรเข้าแทรกแซงไหม ในบทความนี้เราหวังจะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของกลยุทธ์การตั้งราคา traditional pricing ของตั๋วรถทัวร์กับ dynamic pricing ของตั๋วเครื่องบิน LC

ตั๋วรถทัวร์ของบางบริษัท ขายล่วงหน้าก่อนการเดินทางภายใน 60 วัน และปิดขายก่อนรถออก 7 ชั่วโมง ไม่ว่าเราจะซื้อตั๋วเดินทางจากหมอชิตไปสถานีขนส่งพิษณุโลกเดินทางวันพฤหัสที่ 7 สิงหาคม 2557 ก่อนล่วงหน้า 55 วัน หรือ 5 วัน ก็จะได้ตั๋วรถทัวร์ราคาเดียวกัน นี่เป็นตัวอย่างกลยุทธ์ของ traditional “fixed” pricing ที่สินค้าหรือบริการขายที่ราคาเดียวเท่านั้น (บริษัทรถทัวร์ลดราคาสำหรับบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ภิกษุ นักเรียนนักศึกษา ตำรวจทหารในเครื่องแบบ ฯลฯ กลยุทธ์นี้จะกล่าวถึงภายหลัง) ตัวอย่างอื่น ๆ ของ traditional fixed pricing เช่น ราคาตั๋วชั้นสองของรถไฟ ราคาค่าบริการขนส่งสินค้าของทางรถไฟ ที่มีประกาศราคาชัดเจนตามระยะทางหรือตามสถานีต้นทาง-ปลายทาง เป็นต้น

สำหรับตั๋วเครื่องบิน บางสายการบินเปิดให้จองล่วงหน้า ก่อนการเดินทางนานเป็นปี ตั๋วเครื่องบินของสายการบิน LC แห่งหนึ่งจากกรุงเทพไปพิษณุโลกเที่ยว 09:05 วันพฤหัสที่ 7 สิงหาคม 2557 หากเราจอง 9 เดือนก่อนวันเดินทางอาจได้ราคาหนึ่ง หากจอง 3 วันก่อนการเดินทางก็อาจได้อีกราคา จำนวนวันก่อนการเดินทางที่เปลี่ยนไป อาจทำให้ได้ราคาตั๋วที่จองได้เปลี่ยนไป รูป 1 ด้านล่างแสดงให้เห็นถึงราคาตั๋วที่เปลี่ยนไปของตั๋วเดินทางต่างประเทศ และภายในประเทศของสายการบินในสหรัฐอเมริกา ราคาตั๋วเฉลี่ยภายในประเทศต่ำที่สุดอยู่ที่ 402 USD ซึ่งมาจากการจอง 57 วันก่อนการเดินทาง และสูงสุดอยู่ที่ 698 USD ซึ่งมาจากการจองวันเดินทางเลยหรือไม่มีการจองล่วงหน้า (ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อมูลของราคาตั๋วเครื่องบินในสหรัฐ แต่ราคาตั๋วสายการบิน LC ไม่ว่าจะที่ประเทศใด มักถูกคำนวณจากโปรแกรมซึ่งมีหลักการหรือขั้นตอนวิธีใกล้เคียงกัน) นี่เป็นตัวอย่างของ dynamic pricing หรือบางครั้งเรียก variable/differential pricing ตัวอย่างอื่น ๆ ของ dynamic pricing เช่น ราคาห้องของโรงแรม หากจองล่วงหน้าอาจได้ราคาถูกกว่าอัตรา walk-in หรือที่ธุรกิจโรงแรมเรียกว่า rack rate นอกจากนี้กลยุทธ์ดังกล่าวยังใกล้เคียงกับ markdown management ซึ่งเป็นการลดราคาอย่างถาวร ไม่มีการกลับไปขายที่ราคาเดิมอีกแล้วโดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดสินค้าคงคลังในปลายฤดูกาลขาย เช่น เสื้อผ้า fashion ใกล้ปลายฤดูกาลอาจจะมีการลดราคา 20% ต่อจากนั้น ณ สิ้นฤดูกาลลด 50% ตลอดจนขายหมด เป็นต้น

กลยุทธ์ dynamic pricing เป็นกลยุทธ์เชิงราคาของการจัดการรายได้ (revenue management) หรือบางครั้งเรียก Pricing & Revenue Optimization จุดมุ่งหมายของการจัดการรายได้คือ ทำให้รายได้สูงสุด โดยการขายสินค้าหรือบริการที่เหมาะสม ให้กับลูกค้าที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม และด้วยราคาเหมาะสม (“selling the right product to the right customer at the right time at the right price”) เพื่อให้ได้รายได้สูงสุด การจัดการายได้พยายามจัดการอุปสงค์ (demand management) โดยใช้กลยุทธ์เชิงราคาเพื่อขายสินค้าหรือให้บริการที่หลายราคา เช่น dynamic pricing ราคาแปรตามเวลา, group pricing ราคาแปรตามกลุ่มผู้ใช้บริการ เช่น การลดราคาให้ผู้สูงอายุ นักเรียนของรถทัวร์, channel pricing ราคาไม่เท่ากันตามช่องทางการจองโรงแรม เช่น จองผ่านตัวแทนจำหน่าย ผ่าน website Thaiticketmajor สำหรับการแสดงหรือตั๋วรถทัวร์ agoda สำหรับโรงแรม หรือโทรจองโดยตรง เป็นต้น

PRO001

เราจะพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ เพื่อให้เห็นว่าหลายราคาทำให้ได้รายได้สูงกว่าราคาเดียวอย่างไร สมมติว่า บริษัท S ผลิตสินค้า fashion อย่างหนึ่งซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ 30 บาทต่อชิ้น ทางฝ่ายการตลาดประมาณไว้ว่าหากตั้งราคาต่อหน่วยที่ p บาทแล้วจำนวนที่ขายได้จะเป็น (1000-2*p) ชิ้น ดังแสดงด้วยเส้นตรงเฉียงลงในรูป 2 (เช่น หากตั้งราคา 35 บาทบริษัทคาดว่าจะมีคนซื้อ 930 คน หากตั้งราคาสูงขึ้น ก็จะมีคนซื้อน้อยลง เช่นราคา 360 บาทมีคนซื้อ 280 คนเป็นต้น ) จะเห็นได้ว่าหากตั้งราคาต่ำ จะได้กำไรต่อหน่วยต่ำแต่ขายได้เยอะ ในทางตรงกันข้ามหากราคาสูง กำไรต่อหน่วยสูงแต่ยอดขายต่ำ จากการแก้ปัญหา optimization เพื่อหาราคาเหมาะสมที่ทำให้ได้กำไรสูงสุด ได้ราคาดีที่สุดคือ 265 บาท ยอดขายที่ราคานี้คือ 1000-2*265=470 ชิ้น กำไรต่อหน่วย 265-30 = 235 บาท และได้กำไรรวม 235*470 = 110,450 บาท จากกลยุทธ์ traditional fixed pricing

PRO002

สำหรับกลยุทธ์ dynamic pricing สมมติว่าบริษัท M มีต้นทุนและฟังก์ชันยอดขายเหมือนบริษัท S แต่บริษัท M มีกลยุทธ์ขายสองราคาดังนี้: ช่วงแรกต้นฤดู ขายที่ราคา 300 บาท และช่วงหลังปลายฤดูลดราคา 23.33% มาเป็น 230 บาท ตอนต้นฤดูลูกค้าส่วนใหญ่อาจอยากได้สินค้าก่อนใคร เป็นผู้นำ fashion ใช้ก่อนไม่ซ้ำใคร จึงยอมจ่ายแพงกว่า ยอดขายจากลูกค้ากลุ่มนี้คือ 400 ชิ้น ในช่วงหลังที่ราคา 230 มียอดขาย 540-400 = 140 ชิ้น (ที่ราคา 230 คนทั้งหมดที่ต้องการคือ 540 คน ในนั้นจำนวน 400 คนซื้อไปแล้วที่ราคา 300 บาทต้นฤดู จึงเหลือ 140 คนที่ซื้อราคา 230 นี้) กำไรรวมของทั้งสองช่วงคือ (300-30)*400+(230-30)*140 = 136,000 บาท บริษัท M ซึ่งใช้กลยุทธ์ differential pricing ได้กำไรสูงกว่าบริษัท S ซึ่งใช้ traditional pricing คิดเป็น 23% (หากเราทำ optimization เพื่อหาราคาเต็มและ discount ที่ทำให้กำไรรวมสูงสุด เมื่อกำหนดให้ช่วงลดราคาอยู่ระหว่าง 20%-50% จะได้ราคา 343 และ 187 บาทตามลำดับ กำไรรวมสูงสุดคือ 147,267 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก traditional pricing 33%) จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าการตั้งหลายราคาสามารถเพิ่มรายได้ขึ้น แม้จะอยู่ในหลักแสน แต่ก็คิดเป็น % ที่สูงอยู่ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจหลายหมื่นล้านอย่างสายการบิน เพียงรายได้เพิ่มไม่กี่ % ก็อาจหมายถึงกำไรเพิ่มขึ้นหลายพันล้าน มีหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์ต่าง ๆ ของการจัดการรายได้ทำให้สายการบินประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนและรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น British Airways Lufthansa หรือแม้แต่สายการบิน LC เช่น easyJet ซึ่งสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจาก 0% ในมิถุนายน 1996 เป็น 29% ในธันวาคม 1997 ของเส้นทาง UK-Nice

สิ่งที่แตกต่างของสองบริษัทคือกลยุทธ์ด้านราคา กลยุทธ์ traditional pricing ราคาเดียวของบริษัท S หรือเหมือนกับรถทัวร์ กับกลยุทธ์ dynamic pricing หลายราคาของบริษัท M หรือเหมือนกับสายการบิน LC ในตัวอย่างหากจะเปรียบเทียบราคา 230 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดของบริษัท M กับราคา 265 ซึ่งเป็นราคาเดียวของบริษัท S เหมาะสมไหม? หรือใช้ราคา”เฉลี่ย”ของบริษัท M (230+300)/2 = 265 ดีไหม? ทั้งๆ ที่จำนวนคนจ่าย 230 บาทมีจำนวน 140 คน และจ่าย 300 บาทมี 400 คน การทำ promotion ตั้งราคาต่ำของสายการบิน LC เป็นสงครามราคา (price war) เหมือนที่เกิดกับธุรกิจสายการบินในสหรัฐเมื่อปี 1992 ที่ American Airlines, Northwest Airlines และสายการบินอื่นๆ ตัดราคากันจนเกิดมูลค่าเสียหายมหาศาล จนรัฐบาลควรเข้ามาจัดการแทรกแซงแล้วหรือ?


เผยแพร่ครั้งแรกในผู้จัดการ Online 27 ธันวาคม 2557