ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีผลต่อการละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือสู่การเปลี่ยนแปลงระบบโลจิสติกส์โลก

แอดมินได้รับมอบหมายให้ไปเป็นวิทยากรเรื่องผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีผลต่อการละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือสู่การเปลี่ยนแปลงระบบโลจิสติกส์โลก โจทย์นี้เป็นโจทย์ไกลตัวพอควรแต่จะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เพราะการเดินทางของสินค้าทางเรือเดินสมุทรนั้นเดิมจะใช้เส้นทางหลักๆ ไม่กี่เส้นและจะต้องผ่านช่องแคบ หรือ คลองที่ขุดขึ้นมาเป็นประตูทางผ่านไปยังทวีปปลายทาง เช่น ช่องแคบมะละกา เพื่อเข้าออก เอเชียตะวันออก คลองสุเอซ ไปยังทวีปยุโรป คลองปานามา ผ่านไปยังทวีปอเมริกาด้านตะวันตก (ตามรูปที่ 3) แต่บริเวณดังกล่าวก็เป็นจุดคอขวดที่มีความติดขัดสูง เรือเดินสมุทรจากจีนต้องเดินทางไปยังท่าเรือ Rotterdam ในยุโรป ใช้เวลากว่า 45 วันในการเดินทางผ่านจุดคอขวดหลายแห่ง

จึงได้มีแนวคิดและความพยายามในการเสาะหาเส้นทางการเดินสมุทรใหม่ๆ ผ่านบริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งแต่เดิมการเดินทางผ่านขั้วโลกนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เนื่องจากชั้นน้ำแข็งที่หนาเตอะ ต้องใช้เรือที่เรียกว่า Polar Ship ทำการกระแทกเจาะน้ำแข็งนำไปเรื่อยๆ เรือประเภทนี้ต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการขับเคลื่อน มีต้นทุนสูงมาก แต่ด้วยปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก หรือ Climate Change ก็ทำให้ ปริมาณน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายลงไปมากขึ้น จนเกิดช่องเปิดทำให้เรือเดินสมุทรทั่วๆไปเริ่มสามารถเดินทางได้ในช่วงถดูร้อน (ประมาณเดือน กันยายน) เส้นทางที่เกิดขึ้นมีหลายเส้นทาง เช่น Northen Sea Route (เอเชียตะวันออกไปยังยุโรปตะวันตก) Northwest Passage (ลัดเลาะบริเวณแคนาดา ไปยังยุโรปตะวันตก) เส้นทางเหล่านี้ทำให้การเดินทางระหว่างทวีปลดลง จากประมาณ 21000 กม เหลือเพียง 12800 กม เท่านั้น เวลาเดินทางก็ลดลงได้เกือบ 10 วัน ทำให้เกิดการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งและลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงไปได้มาก สินต้าที่ใช้ขนส่งก็เป็นพวกสินค้าพลังงานเช่นน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และ ธัญพืช (Grain)

ต้องบอกว่า ประเทศที่นำร่อง การเดินทางในขั้วโลกเหนือไปแล้วก็มี ทั้งรัสเซีย แคนาดา และจีน (ในปี 2013 จีนนำเรือ Yon Sheng ออกจากท่าเรือต้าเหลียง ไปยัง Rotterdam ใช้เวลาเพียง 35 วัน จากเดิมที่ใช้ถึง 45-50 วัน ในอนาคต น้ำแข็งก็ละลายมากขึ้นเรื่อยๆ ตามภาวะโลกร้อน การเดินทางก็จะยิ่งรวดเร็วขึ้นเนื่องจากไม่ต้องเลาะขอบน้ำแข็งแต่เดินทางตรงๆ ได้เลย น่าจะเหลือเวลาสัก 25-30 วัน ถ้าคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจก็น่าจะหลายอยู่ ทางเลือกนี้จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ คงไม่ได้เกิดขึ้นเร็วๆนี้ แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่าการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกนั้นมีผลกระบทบต่อเส้นทางการเดินทางของเรือเดินสมุทรและแน่นอนว่า landscape ของโลจิสติกส์โลกใน 10-20 ปีข้างหน้าคงเปลี่ยนหน้าตาไปเป็นอย่างมาก

เอกสารประกอบการบรรยาย

(ขอขอบคุณ สภาคณาจารย์ NIDA ที่สนับสนุนให้เป็นตัวแทน Logistics Management at NIDA บรรยายในงาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จัดที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ รศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ Siwatt Pongpiachan ท่านเป็นอาจารย์ NIDA และนักวิจัยทีทำงานด้านการสำรวจขั้วโลกใต้ รุ่นที่ 3 ของประเทศไทย ท่านได้เชิญแอดมินไปร่วมบรรยายในงานหนังสือที่ท่านเขียนหนังสือ เรื่อง ปริศนาแผ่นดินแอนตาร์กติกกา ขอบคุณ My RA Rapeepat Chaiprasittikul ที่ช่วยค้นคว้าเรียบเรียงเอกสารนี้ให้แอดมิน)

ดร. สราวุธ จันทร์สุวรรณ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์
คณะสถิติประยุกต์ NIDA


เผยแพร่ครั้งแรกใน Logistics Management at NIDA Facebook วันที่ 7 เมษายน 2559
https://www.facebook.com/Logistics-Management-at-NIDA-915312451919039/