ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีผลต่อการละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือสู่การเปลี่ยนแปลงระบบโลจิสติกส์โลก

แอดมินได้รับมอบหมายให้ไปเป็นวิทยากรเรื่องผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีผลต่อการละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือสู่การเปลี่ยนแปลงระบบโลจิสติกส์โลก โจทย์นี้เป็นโจทย์ไกลตัวพอควรแต่จะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เพราะการเดินทางของสินค้าทางเรือเดินสมุทรนั้นเดิมจะใช้เส้นทางหลักๆ ไม่กี่เส้นและจะต้องผ่านช่องแคบ หรือ คลองที่ขุดขึ้นมาเป็นประตูทางผ่านไปยังทวีปปลายทาง เช่น ช่องแคบมะละกา เพื่อเข้าออก เอเชียตะวันออก คลองสุเอซ ไปยังทวีปยุโรป คลองปานามา ผ่านไปยังทวีปอเมริกาด้านตะวันตก (ตามรูปที่ 3) แต่บริเวณดังกล่าวก็เป็นจุดคอขวดที่มีความติดขัดสูง เรือเดินสมุทรจากจีนต้องเดินทางไปยังท่าเรือ Rotterdam ในยุโรป ใช้เวลากว่า 45 วันในการเดินทางผ่านจุดคอขวดหลายแห่ง

การวางแผนจัดตู้คอนเทนเนอร์ลงเรือบรรทุกสินค้า กรณีศึกษา บริษัทให้บริการขนส่งทางเรือแห่งหนึ่งในประเทศไทย

บทความนี้กล่าวถึงกรณีศึกษาการวางแผนการจัดส่งสินค้าทางเรือด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ในแต่ละสัปดาห์ ที่ออกจากท่าเรือสิงคโปร์เพื่อไปส่งท่าเรือในยุโรป 7 ท่าเรือ เส้นทางเดินเรือมีทั้งหมด 4 เส้นทางแบบเครือข่าย ปัญหาการจัดส่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่วนมากเกิดจากตู้คอนเทนเนอร์บางส่วนไม่สามารถส่งไปยังท่าเรือในยุโรปภายในระยะเวลาที่ลูกค้ากำหนด เนื่องจากเรือแม่ที่ออกจากท่าเรือสิงคโปร์ไปยังท่าเรือที่ลูกค้าต้องการนั้นบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จนเต็มจำนวนที่บริษัทสามารถใช้ได้ ดังนั้นบริษัทจึงต้องจัดตู้คอนเทนเนอร์เหล่านั้นไปยังเรือแม่ของเส้นทางอื่นที่ยังสามารถบรรทุกได้ และใช้วิธีการลงตู้คอนเทนเนอร์ไว้ที่ท่าเรือหนึ่งเพื่อรอให้เรือแม่ที่จะวิ่งไปยังท่าเรือที่ลูกค้าต้องการมาขึ้นตู้คอนเทนเนอร์เหล่านั้นไปส่ง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น และก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือต่อบริษัทเมื่อเกิดการจัดส่งที่ล่าช้า นอกจากนี้อาจต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกค้าหรืออาจให้ส่วนลดเมื่อลูกค้ามาใช้บริการในครั้งต่อไป แต่ในระยะยาวอาจส่งผลให้เสียลูกค้ารายนั้นไป ในการศึกษาครั้งนี้จึงได้สร้างตัวแบบทางคณิตศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะหาจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่จะจัดสรรไปยังเรือแม่ที่ออกจากท่าเรือสิงคโปร์ไปยังท่าเรือที่ยุโรปในทั้ง 4 เส้นทาง เพื่อให้ได้กำไรที่สูงสุดและส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดได้ตามเวลาที่ลูกค้าต้องการ ในการเดินเรือนั้นสามารถเปลี่ยนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ไปยังเรือแม่ลำอื่นที่ท่าเรือหนึ่งได้ โดยที่จำนวนตู้คอนเนอร์ที่บรรทุกไปในเรือทั้ง 4 ลำต้องไม่เกินข้อกำหนดที่บริษัทสามารถใช้ได้ และจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ของลูกค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ต้องถูกจัดส่งให้หมดภายในสัปดาห์นั้น ปนัดดา สาระพิทักษ์ การประชุมวิชาการด้านการวิจัยดำเนินงานแห่งชาติ ประจำปี 2559 (ORNET2016) Slide: ORNET2016-container-present Full paper: ORNET2016-container

การประเมินความยืดหยุ่นด้านความจุของโครงข่ายการขนส่งสินค้า ระหว่างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง กับท่าเรือแหลมฉบัง

วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือการพัฒนาตัวแบบคณิตศาสตร์เพื่อใช้ประเมินความยืดหยุ่นด้านความจุของโครงข่ายการขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นการประเมินหาขีดความจุสูงสุดที่ระบบโครงข่ายขนส่งสินค้าสามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าได้ ผลการศึกษาดังกล่าวจะทำให้ทราบถึงความจุคงเหลือ ของโครงข่าย การประเมินหาความจุของโครงข่ายใช้ตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์จากปัญหา 2 ระดับ (Bi-level Programming) ประกอบด้วย ปัญหาระดับบน (Upper Level) ซึ่งเป็นการคำนวณหาค่าที่มากที่สุดของตัวคูณความจุสำรองภายในโครงข่ายทางหลวง หรือ μ และปัญหาระดับล่าง (Lower Level) ซึ่งจะแสดงพฤติกรรมการเลือกเส้นทางสำหรับการขนส่งสินค้า โดยพิจารณาจากปัญหาการเลือกเส้นทางที่จุดสมดุลของผู้เดินทาง (User Equilibrium) โดยการศึกษานี้ได้เลือกศึกษาโครงข่ายการขนส่งสินค้าระหว่างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ลาดกระบังกับท่าเรือแหลมฉบัง ที่ประกอบด้วยโครงข่ายทางหลวงและโครงข่ายรถไฟเป็นกรณีศึกษา และทำการเปรียบเทียบสถานการณ์การขนส่งสินค้า 3 สถานการณ์ คือ 1) สถานการณ์ที่มีการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกเพียงรูปแบบเดียว 2) สถานการณ์ที่มีการขนส่งสินค้าร่วมกันผ่านรถบรรทุกและรถไฟในช่วงเวลาปัจจุบัน และ 3) สถานการณ์ที่มีการขนส่งสินค้าร่วมกันผ่านรถบรรทุกและรถไฟในอนาคต (หลังเสร็จสิ้นโครงการพัฒนาศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ) ซึ่งผลการศึกษา พบว่า สถานการณ์ที่ 1 และ 2 มีความจุของโครงข่ายทางหลวงหลักที่ใช้ขนส่งสินค้าไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการในปัจจุบัน โดยมีค่า μ เท่ากับ 0.39 และ 0.62 ตามลำดับ ในส่วนของสถานการณ์ที่ […]

การพัฒนาตัวแบบความยืดหยุ่นของโซ่อุปทานสินค้าเกษตร กรณีศึกษามันสำปะหลังในประเทศไทย

ยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งของภาครัฐคือการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้บริโภคโดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น ตัวชี้วัดประสิทธิภาพตามแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาพิจารณาเพียงเรื่องของต้นทุน ระยะเวลาที่ใช้ และความน่าเชื่อถือ แต่ตัวชี้วัดที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือ ความยืดหยุ่นของโซ่อุปทาน ซึ่งแสดงถึงความสามารถที่ระบบจะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐยังไม่ได้กล่าวถึงมากนัก บทความนี้จึงได้พัฒนาตัวแบบกำหนดการเชิงเส้นผสมจำนวนเต็ม (Mixed Integer Linear Programming) เพื่อใช้วัดความยืดหยุ่น (Flexibility) โดยนำมาประยุกต์ใช้กับกรณีศึกษามันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศแต่ปริมาณผลผลิตน้อยและไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ซึ่งการพัฒนาตัวแบบพิจารณาตั้งแต่ส่วนการเพาะปลูก การแปรรูปและการขนส่ง โดยตัวแบบที่สร้างขึ้นแบ่งออกเป็น 2 ตัวแบบย่อยคือ ตัวแบบที่ 1 เป็นตัวแบบประเมินความสามารถพื้นฐานภายใต้ข้อจำกัดในการผลิต การจัดเก็บ การขนส่งของเกษตรกรและโรงงานแปรรูปเพื่อให้เกิดต้นทุนที่ต่ำที่สุด  ส่วนตัวแบบที่ 2 เป็นตัวแบบประเมินความยืดหยุ่นของโซ่อุปทานโดยอ้างอิงความสามารถพื้นฐานจากตัวแบบที่ 1 และผลจากตัวแบบนี้จะทำให้ทราบถึงความสามารถสูงสุดของเกษตรกร โรงงานแปรรูป และระบบการขนส่งที่สามารถรองรับได้ ซึ่งตัวแบบสามารถเป็นเครื่องมือช่วยกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มศักยภาพของโซ่อุปทานรวมถึงระบุจุดคอขวดของระบบเพื่อให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปารียา ศิริวัฒนพันธ์ สราวุธ จันทร์สุวรรณ การประชุมวิชาการด้านการวิจัยดำเนินงานแห่งชาติ ประจำปี 2559 (ORNET2016) Slide: ORNET2016-cassava-present Full paper:ORNET2016-cassava

ตัวแบบการจองปริมาณบรรทุกสินค้าจากสายการบิน

งานวิจัยนี้ศึกษาตัวแบบการจองปริมาณบรรทุกสินค้าล่วงหน้าจากสายการบินของบริษัทตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยสร้างตัวแบบให้สอดคล้องกับการทำงานจริงของบริษัทกรณีศึกษาและดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล การจองปริมาณบรรทุกสินค้าล่วงหน้าจากสายการบินต้องจองในปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่เหมาะสมที่จะจองปริมาณบรรทุกสินค้าเกินความต้องการส่งออกจริงไปได้มาก เนื่องจากรายได้ที่แท้จริงที่สายการบินจะได้รับขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่ส่งออกจริงในแต่ละเที่ยวบิน และในขณะเดียวกันหากทางบริษัทจองปริมาณบรรทุกสินค้าจากสายการบินน้อยเกินไปอาจจะทำให้ไม่สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างเพียงพอ ผู้วิจัยจึงศึกษาทั้งกำไรเฉลี่ยของการส่งออกสินค้าในแต่ละเที่ยวบิน และการใช้ประโยชน์ (Utilization) จากการจองปริมาณบรรทุกสินค้าที่แตกต่างกัน จากการศึกษาพบว่าบริษัทกรณีศึกษาสามารถนำผลการดำเนินงานไปประกอบการตัดสินใจเพื่อกำหนดปริมาณบรรทุกสินค้าล่วงหน้าที่ต้องจองกับสายการบินได้ อภิญญา เทพพนมรัตน์ กาญจ์นภา อมรัชกุล การประชุมวิชาการด้านการวิจัยดำเนินงานแห่งชาติ ประจำปี 2559 (ORNET2016) Slide:ORNET2016-aircargo-present Full paper: ORNET2016-aircargo

การจัดสรรการขนส่งน้ำมันดีเซลไปเขตภาคเหนือของประเทศไทย: กรณีศึกษา บริษัทผู้ค้าน้ำมันแห่งหนึ่ง

บทความนี้กล่าวถึงการเสนอนโยบายการจัดสรรการขนส่งน้ำมันไปคลังน้ำมันในเขตภาคเหนือทั้งหมด 5 คลัง เพื่อให้มีต้นทุนการขนสงรวมต่ำที่สุด การขนส่งสามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือทางรถไฟ และทางรถบรรทุก ต้นทุนต่อหน่วยของการขนส่งทางรถไฟนั้นต่ำกว่าการขนส่งทางรถบรรทุก แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของความสามารถในการขนส่งซึ่งไม่เพียงพอต่อปริมาณน้ำมันที่ต้องการขน และการเช่าแม่แคร่ (ที่วางตู้บรรทุกน้ำมันสำหรับขนส่งทางรถไฟ) ที่คิดค่าเช่าเป็นรายปี จึงต้องตัดสินใจเช่าแม่แคร่ก่อนที่จะทราบปริมาณความต้องการน้ำมัน   ผู้วิจัยได้นำข้อมูลปริมาณความต้องการน้ำมันในอดีตมาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกนำไปจำลองสถานการณ์ (Simulation) ปริมาณความต้องการน้ำมันแล้ววิเคราะห์หาปริมาณการเช่าแม่แคร่ที่เหมาะสม จากนั้นนำข้อมูลส่วนที่ 2 มาจัดสรรการขนส่ง โดยประยุกต์การใช้ตัวแบบโปรแกรมเชิงเส้น (Linear Programming) มาใช้แก้ปัญหาการตัดสินใจจำนวนรถบรรทุกที่ต้องใช้ต่อวัน ผลที่ได้จากนโยบายการขนส่งแบบใหม่สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ 4% จุฑาภัทร ศุภผล กาญจ์นภา อมรัชกุล การประชุมวิชาการด้านการวิจัยดำเนินงานแห่งชาติ ประจำปี 2559 Slide: ORNET2016-diesel-present Full paper: ORNET2016-diesel

1 9 10 11 12 13