จากข่าวช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ สายการบินบางกลุ่มเสนอให้รัฐกำหนดราคาเพดานขั้นต่ำของสายการ Low-Cost (LC) เพื่อป้องกันไม่ให้ตั้งต่ำกว่าต้นทุนจนอาจกลายเป็นสงครามการแข่งขันด้านราคา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะกระทบต่อธุรกิจสายการบินในไทยโดยรวม ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มสายการบินตกเมื่อนักลงทุนหวาดหวั่นต่อสงครามราคา ภายหลังจากที่หลายสายการบินได้ลดราคาลงตามราคาน้ำมันและเพื่อเพิ่มจำนวนนักเดินทาง เราจะทราบได้อย่างไรว่าสงครามราคาเกิดขึ้นหรือยัง? การที่สายการบิน LC มีราคาตั๋ว promotion ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุน แสดงว่ามีสงครามราคาเกิดขึ้นอย่างนั้นหรือ? เพดานราคาขั้นต่ำจำเป็นจริงหรือไม่? และถึงเวลาแล้วหรือที่รัฐควรเข้ามาแทรกแซงธุรกิจสายการบิน?
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในเครื่องหนึ่งลำนั้น ผู้โดยสายแต่ละคนจ่ายค่าตั๋วไม่เท่ากัน บางคนจองก่อนนานมาก พอ promotion เปิดก็รีบฟาดฟันจองได้ตั๋วถูกสุดๆ มาได้ บางคนจองช้าก็อาจได้ราคาแพงขึ้น ราคาตั๋วที่แพงสุดอาจแตกต่างกับตั๋วราคาถูกสุดเป็นหลายเท่า และราคาตั๋วที่แตกต่างกันก็อาจมี 6-12 ราคาก็เป็นได้ สมมติว่า สำหรับสายการบิน LC หนึ่งมี Cost per Available Seat Kilometer (CASK) อยู่ที่ 2.10 THB/seat/km เส้นทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ ทั้งลำมีจำนวนที่นั่ง 150 ที่นั่ง มีต้นทุนจริงอยู่ที่ประมาณ 1,462 บาทต่อที่นั่ง ราคาตั๋วต่ำสุดอยู่ที่ 200 บาทและสูงสุดอยู่ที่ 1,800 บาท เพราะมีขายตั๋ว promotion ที่ราคา 200 ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนจริง ทำให้เราสรุปได้ว่าสายการบินขายตั๋วต่ำกว่าทุน จริงหรือ?
ไม่น่าใช่ เพราะราคาตั๋วมีหลายราคา ไม่น่าจะเอาราคาที่ต่ำสุดมาเป็นเกณฑ์วัด
งั้นดูทั้งราคาต่ำสุดและสูงสุดด้วย เช่น ดูที่ราคา (200+1800)/2 = 1,000 ซึ่งก็ต่ำกว่าต้นทุน? 1,000 บาทที่ได้มานี่เป็นราคา “เฉลี่ย” แล้วใช่หรือไม่? ไม่น่าใช่อีกเช่นกัน เพราะค่าเฉลี่ยต้องคำนึงถึงจำนวนความถี่ของค่านั้น ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น หากทั้งลำ มีราคา 200 อยู่ 5 ใบ และมีราคา 1,800 อยู่ 115 ใบ ก็จะได้ราคาเฉลี่ยเป็น
(200*5+1800*115)/(5+115) = (5/120)*200+ (115/120)*1800 = (4.16%)*200 + (95.83%)*1800 = 1,733.33
สังเกตว่าเราถ่วงน้ำหนักของราคาตั๋วด้วยร้อยละของจำนวนที่ขายได้ ซึ่งเท่ากับประมาณ 4% และ 96% สำหรับตั๋วราคา 200 และ 1,800 บาทตามลำดับ
สมมติว่า เส้นทางนี้มีทั้งหมด 5 ราคา คือ 200, 700, 1200, 1600, 1800 บาทต่อที่นั่ง โดยราคาตั๋วและจำนวนตั๋วที่ขายได้ในแต่ละราคาดังแสดงในตาราง
จำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 146 คน ราคาตั๋วเฉลี่ยอยู่ที่
(2*200 + 3*700 + 19*1200 + 112*1600 + 10*1800)/146 = 1523.97
หรือประมาณ 1,524 บาทต่อที่นั่ง ซึ่งมากกว่าต้นทุนจริง เมื่อคำนวณ Passenger Yield จะได้ 2.19 บาท/คน/กม และ Revenue per Available Seat Kilometer (RASK) 2.13 THB/seat/km ซึ่งทั้งสองตัววัดนี้สูงกว่าต้นทุน CASK สายการบิน LC นี้ทั้ง ๆ ที่มีตั๋วราคาถูกมาก แต่เมื่อถัวเฉลี่ยกับตั๋วที่ขายไปราคาอื่น ๆ ทำให้ได้ ราคาตั๋วเฉลี่ยมากกว่าต้นทุน จากตัวอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องกำหนดราคาเพดานขั้นต่ำ รายได้ก็มากกว่าต้นทุนอยู่แล้ว
ตัวอย่างที่ผ่านมาแสดงการคำนวณเพียงเส้นทางเดียวเพื่อสะดวกในการอธิบาย สถิติดังกล่าวเมื่อคำนวณโดยรวมทุกเส้นทาง ถูกรวบรวมไว้ในรายงานประจำปีของสายการบิน ซึ่งเปิดเผยบน Internet สำหรับหลายสายการบิน หาก RASK หรือ yield ของหลายสายการบิน หรือทั้งกลุ่มธุรกิจการบินมีแนวโน้มต่ำลง เช่น ในสหรัฐเมื่อกลางปีที่ผ่าน สายการบิน United Continental และ Southwest Airlines รายงานว่ามี Revenue per Available Seat Miles (RASM) ลดลงอย่างชัดเจน อาจเป็นสัญญาณหนึ่งซึ่งแสดงว่า สงครามราคาเริ่มต้นประทุขึ้นแล้ว
รองศาสตราจารย์ ดร. กาญจ์นภา อมรัชกุล
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
http://as.nida.ac.th/th/