ยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งของภาครัฐคือการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้บริโภคโดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น ตัวชี้วัดประสิทธิภาพตามแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาพิจารณาเพียงเรื่องของต้นทุน ระยะเวลาที่ใช้ และความน่าเชื่อถือ แต่ตัวชี้วัดที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือ ความยืดหยุ่นของโซ่อุปทาน ซึ่งแสดงถึงความสามารถที่ระบบจะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐยังไม่ได้กล่าวถึงมากนัก บทความนี้จึงได้พัฒนาตัวแบบกำหนดการเชิงเส้นผสมจำนวนเต็ม (Mixed Integer Linear Programming) เพื่อใช้วัดความยืดหยุ่น (Flexibility) โดยนำมาประยุกต์ใช้กับกรณีศึกษามันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศแต่ปริมาณผลผลิตน้อยและไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ซึ่งการพัฒนาตัวแบบพิจารณาตั้งแต่ส่วนการเพาะปลูก การแปรรูปและการขนส่ง โดยตัวแบบที่สร้างขึ้นแบ่งออกเป็น 2 ตัวแบบย่อยคือ ตัวแบบที่ 1 เป็นตัวแบบประเมินความสามารถพื้นฐานภายใต้ข้อจำกัดในการผลิต การจัดเก็บ การขนส่งของเกษตรกรและโรงงานแปรรูปเพื่อให้เกิดต้นทุนที่ต่ำที่สุด ส่วนตัวแบบที่ 2 เป็นตัวแบบประเมินความยืดหยุ่นของโซ่อุปทานโดยอ้างอิงความสามารถพื้นฐานจากตัวแบบที่ 1 และผลจากตัวแบบนี้จะทำให้ทราบถึงความสามารถสูงสุดของเกษตรกร โรงงานแปรรูป และระบบการขนส่งที่สามารถรองรับได้ ซึ่งตัวแบบสามารถเป็นเครื่องมือช่วยกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มศักยภาพของโซ่อุปทานรวมถึงระบุจุดคอขวดของระบบเพื่อให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปารียา ศิริวัฒนพันธ์ สราวุธ จันทร์สุวรรณ
การประชุมวิชาการด้านการวิจัยดำเนินงานแห่งชาติ ประจำปี 2559 (ORNET2016)
Slide: ORNET2016-cassava-present
Full paper:ORNET2016-cassava